top of page
  • Writer's pictureAdWise Education Admin

วีซ่านักเรียนออสเตรเลียไม่ต้องยื่น Statement จริงหรือ?

Updated: Sep 4, 2023


ประเทศออสเตรเลีย มีกฏกติกาในการพิจารณาวีซ่านักเรียนหลายขั้นตอน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ "ความเสี่ยงทางด้านวีซ่า" หรือที่เรียกว่า Immigration Risk Assessment Level (AL) ที่อิมมิเกรชั่นจะใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจัดลำดับความน่าเชื่อถือของโรงเรียน และอนุมัติวีซ่าให้กับนักเรียน โดยจะมีการพิจารณาจัดอันดับทุกๆ 6 เดือน ช่วงเดือนมีนาคม และกันยายนของทุกปี


แต่ล่าสุดมีการพิจารณาจัดอันดับวันที่ 27 April 2023 ซึ่งไม่ตรงกับช่วงเวลาที่ทางระบบเคยประกาศไว้ ดังนั้นแนะนำให้เตรียมเอกสารการเงินให้ครบถ้วนไว้ก่อนก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องการปรับเปลี่ยนเลเวลนี้


Assessment Level (AL) มี 3 ระดับ คือ


AL 1 = ความเสี่ยงน้อย

AL 2 = ความเสี่ยงปานกลาง

AL 3 = ความเสี่ยงมาก


การพิจารณาโรงเรียนแบ่งระดับของโรงเรียน จะพิจารณาว่าในช่วงที่ผ่านมา โรงเรียนที่รับนักเรียนเข้าศึกษาต่อนั้น มีจำนวนนักเรียนที่ยื่นวีซ่าแล้วไม่ผ่านเป็นจำนวนเท่าใด ไม่ผ่านเพราะอะไร ไม่ผ่านเพราะเอกสารเป็นเท็จ หรือเมื่อวีซ่าผ่านมาแล้ว


นักเรียนมาเรียนไหมหรือโดดวีซ่าไปเลย ระหว่างเรียนสอบไม่ผ่าน หรือขาดเรียนจนเกินกำหนดวีซ่านักเรียนทำให้โรงเรียนต้อง report to immigration หรือมีการเปลี่ยนเป็นวีซ่าลี้ภัยเป็นต้น หากมีนักเรียนแบบนี้ โรงเรียนก็จะโดนตัดคะแนนเยอะมาก


ปัญหาเหล่านี้ จึงทำให้ทางโรงเรียนมีขั้นตอนการรับสมัครนักเรียนละเอียดมากขึ้นและแตกต่างกันไป เช่น ขอดูหลักฐานการเงิน (Statement) ตั้งแต่ตอนสมัครเรียน (ป้องกันในเรื่องหนีวีซ่าไปทำงาน) บังคับให้ทำข้อสอบวัดระดับ หรืออาจขอจดหมายชี้แจงวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต่อ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อเพื่อรักษาระดับของโรงเรียนไว้นั่นเอง แต่ระดับของ AL นี้ไม่ได้เป็นตัววัดว่าโรงเรียนไหนสอนดีกว่า หรือโรงเรียนไหนที่ค่าเล่าเรียนแพงก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ AL ที่อยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงน้อย


สำหรับนักเรียนต่างชาติ การแบ่ง Immigration Risk Assessment Level ก็ถูกแบ่งเป็น 3 ระดับเช่นเดียวกัน โดยประเทศไทยตอนนี้อยู่ระดับ AL3 (ข้อมูล 27 April 2023) คือ มีความเสี่ยงสูงสุด เมื่อพิจารณาร่วมกับ Immigration Risk Assessment Level ของโรงเรียน จะมีผลต่อเอกสารบังคับที่ต้องใช้การยื่นวีซ่าของนักเรียน ได้แก่ 1. เอกสารด้านการเงิน และ 2. ผลสอบภาษาอังกฤษ


สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัย และหลายคนได้ยินมาว่า วีซ่านักเรียนออสเตรเลียไม่ต้องยื่น Financial Statement จริงหรือไม่

ตอบในแง่ของกฏเกณฑ์จากอิมมิเกรชั่นได้ว่า “จริง” โดยพิจารณาตามด้วยเงื่อนไข ความสัมพันธ์ของ AL ระหว่างโรงเรียนและนักเรียนว่าเป็น Streamline หรือ Regular เพื่อเป็นเกณฑ์ว่านักเรียนเคสนี้ต้องยื่นเอกสารการเงินเป็นเอกสารบังคับหรือไม่


ข้อกำหนดในการพิจารณาความสัมพันธ์ของ AL ระหว่างโรงเรียนและนักเรียน :

Immigration Risk Assessment Level
ตารางเทียบ ความสัมพันธ์ของ AL ระหว่างโรงเรียนและนักเรียน By AdWise Education

ตัวอย่างที่ 1 ไม่ต้องยื่นเอกสารการเงิน (S = Streamlined Evidentiary Requirement)

นักเรียนไทย (AL3) ลงเรียนกับโรงเรียน AL1 รวมแล้วจะเป็น Streamlined Evidentiary Requirement คือยกเว้นไม่ต้องยื่นเอกสารการเงิน และยกเว้นไม่ต้องยื่นผลสอบภาษาอังกฤษ


ตัวอย่างที่ 2 ต้องยื่นเอกสารการเงิน (R = Regular Evidentiary Requirement)

นักเรียนไทย (AL3) ลงเรียนกับโรงเรียน AL2 หรือ โรงเรียน AL3 ผลออกมาจะเป็น Regular Evidentiary Requirement ซึ่งตามข้อกำหนดการยื่นวีซ่าจะบังคับให้ยื่นเอกสารทางการเงิน และผลสอบภาษาอังกฤษควบคู่กัน ถ้าไม่มีถือว่ายื่นเอกสารไม่ครบ คือยื่นไม่ผ่านแน่นอน


ทั้งนี้ ยกเว้น การลงเรียนภาษาอังกฤษทุกคอร์ส ไม่ต้องใช้ผลสอบภาษาอังกฤษเป็นเอกสารบังคับเพื่อยื่นวีซ่า


แต่เพราะอิมมิเกรชั่นได้แจ้งไว้ชัดเจนว่า ภายหลังจากยื่นวีซ่าไปแล้ว มีสิทธิที่ “อาจจะขอ” เอกสารการเงินของนักเรียนดูได้ เมื่อตอนแรกเราแจ้งข้อมูลไปว่ามีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายตลอดเวลาที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย แต่เมื่ออิมมิเกรชั่นเรียกขอดูหลักฐานทางการเงิน แล้วไม่มีให้ จะถือว่านักเรียนให้ข้อมูลเท็จในใบสมัครวีซ่า วีซ่าจะไม่ผ่านโดยทันที



AdWise แนะนำ



1. ให้นักเรียนเลือกลงเรียนในสถาบัน AL1 ลงทะเบียนเรียนในสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือมาก และแจ้งในแบบฟอร์มวีซ่าออนไลน์ว่ามีเงินเพียงพอใช้จ่าย มียอดเงินเท่าไหร่ เป็นเงินของใคร และเป็นเงินฝากที่ธนาคารไหน หรือเงินกู้จากธนาคารไหน หรือจะแจ้งว่ามีรายได้ต่อปีเท่ากับหรือมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (เงื่อนไข รายละเอียดเอกสารตามกฎของอิมมิเกรชั่นออสเตรเลีย) พร้อมกับเตรียมเอกสารทางการเงินดังกล่าวให้พร้อม


2. แม้ว่าอิมมิเกรชั่นจะไม่บังคับให้ยื่นเอกสารทางการเงินตั้งแต่แรก แต่โรงเรียนหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงเรียน AL1จะขอดูเอกสารทางการเงินก่อนออกใบตอบรับให้เข้าเรียน (Offer Letter / COE) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่รับนักเรียนเข้าเรียนแล้วนักเรียนจะไม่ผ่านวีซ่า ซึ่งทำให้สถาบันการศึกษาแห่งนั้นถูกลดระดับความน่าเชื่อถือลงไป


ดังนั้น ขอเน้นย้ำว่า ควรเตรียมเอกสารทางการเงิน ซึ่งสามารถใช้เอกสารหลักทรัพย์ ทรัพย์สินต่างๆ แนบเพิ่มเพื่อแสดงถึงความมั่นคงทางด้านฐานะการเงินให้พร้อม และแจ้งทุกสิ่งตามความเป็นจริง เพราะถือเป็นเอกสารสนับสนุนในหัวข้อ GTE ได้ดี มีผลให้การยื่นขอวีซ่านักเรียนมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น


สอบถามเพิ่มเติมเรื่องเรียนต่อและขอวีซ่าออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ อเมริกา ดูไบ กับ AdWise Education ได้ทุกวัน

ติดต่อ พี่จอย พี่แอ้ 086-400-4350, 086-367-4297

Line : @adwise

สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามคัดลอก แก้ไข ดัดแปลงบทความ และ/หรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

All Rights Reserved.

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :







Comments


Search By Tags
bottom of page